วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทที่ 4 งบการเงินส่วนบุคคล

บทที่  4
                  งบการเงินส่วนบุคคล
                  งบการเงินส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นมานั้น บอกถึงสภาพการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของลูกค้า นักวางแผนทางการเงินจะต้องช่วยลูกค้ามองไปในอนาคตด้วยว่าข้อมูลรายได้รายจ่ายของลูกค้าจะเป็นไปอย่างไร ในตอนนี้จะอธิบายถึงงบประมาณล่วงหน้า (Budget หรือ Spending Plan)
ปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่ของลูกค้า คือ การใช้จ่ายเกินตัว (Overusing Credit) การขาดแผนการออมอย่างต่อเนื่อง (Lacking a Regular Saving Program) เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวนี้ลดทอนหรือแก้ไขได้โดยการควบคุมตัวเลขงบประมาณส่วนบุคคลนี้
16.1 วัตถุประสงค์ของงบประมาณส่วนบุคคล มี 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยรายได้ของแต่ละบุคคล (Live within your income)
2. เพื่อให้ใช้จ่ายเงินได้อย่างชาญฉลาด (Spend your money wisely)
3. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ต้องการ (Reach your financial goals)
4. เพื่อให้มีการเตรียมพร้อม เมื่อมีความต้องการทางการเงินแบบฉุกเฉิน (Prepare for financial emergencies)
5. เพื่อให้มีการพัฒนานิสัยการบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด (Develop wise financial management habits)
16.2 ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล
ขั้นตอนที่1   กำหนดเป้าหมายทางการเงิน (Setting financial goals)
เป้าหมายทางการเงิน เป็นสิ่งที่เราต้องการบรรลุในอนาคตซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนกำหนดตัวเลขทางการเงินในการใช้จ่าย การออม และการลงทุน ซึ่งในแต่ละช่วงชีวิต หรือสถานการณ์ของแต่ละบุคคลจะมีเป้าหมายทางการเงินไม่เหมือนกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในงบประมาณส่วนบุคคลจะมีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินเป็นตัวเลขเชิงปริมาณ และกระจายไปเป็นตัวเลขในงบประมาณในอนาคตว่าเราจะต้องออมเพิ่มอีกเท่าไร ต้องลดการใช้จ่ายลงเท่าใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้
ขั้นตอนที่2   ประมาณการรายได้ (Estimating income)
จะต้องมีการประมาณการว่าในอนาคตรายได้ซึ่งเป็นกระแสเงินสดไหลเข้าของลูกค้าจะมีอะไรบ้างมาจากการทำงาน การลงทุนเท่าใด ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการมีรายได้เพิ่ม การทำประมาณการร่วมกันจะช่วยลูกค้าได้เห็นว่ารายได้สูงสุดที่เขาจะหาได้จะเป็นเท่าใด ควรสร้างโอกาสให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นได้อย่างไร เพราะจะเป็นโอกาสให้มีฐานเงินออมให้ต่อยอดความมั่งคั่งเพิ่มต่อไป เช่น การมีรายได้จากงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ การไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนซึ่งเรียกว่า ให้เงินทำงาน ไม่ใช่ใช้ร่างกาย (human assets) ทำงานเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียว
ขั้นตอนที่การกันงบประมาณเพื่อออมและเพื่อเหตุฉุกเฉิน (Budgeting an emergency fund and savings)
ลูกค้าควรได้รับการแนะนำให้กันเงินจากรายได้ไว้ก่อนเลยเพื่อกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อการออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน นักวางแผนทางการเงินส่วนใหญ่แนะนำว่าเงินที่กันไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินควรมีประมาณ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ (Living expenses) ซึ่งถือว่า พอจะช่วยให้เกิดความมั่นคงรองรับความผันผวนในระยะสั้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิต และการทำงาน

ขั้นตอนที่4   ประมาณการค่าใช้จ่ายคงที่ (Budgeting Fixed Expenses)
ในขั้นตอนนี้ให้นำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำและค่อนข้างคงที่ เช่น ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ค่าบ้าน รถยนต์ ภาษี หรือ ประกันชีวิต   มารวมอยู่ในกลุ่มค่าใช้จ่ายนี้ คนที่มีภาระมากๆไปก่อหนี้ไว้มาก ค่าใช้จ่ายคงที่ในส่วนนี้ก็จะสูง บางครั้งการแนะนำให้กันรายได้ไว้ก่อนตามขั้นตอนที่3 ก็ไม่อาจทำได้ เพราะกลัวว่าจะไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ นอกจากนี้ถ้าดูจากวัฏจักรชีวิต ยิ่งคนมีอายุมากขึ้นภาระการจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ควรจะลดลง ตัวอย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน รถยนต์ มักจะทำเมื่อตอนเริ่มทำงานไปไม่นาน และทยอยผ่อนชำระไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสออมเพื่อให้ฐานของความมั่งคั่งมีมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น