วันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

บทที่ 6 การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ

บทที่  6
การวางแผนเพื่อการเกษียณอายุ
               คนวัยหนุ่มสาวอาจคิดว่ายังไม่ต้องรับรองวางแผนอะไรสำหรับการเกษียณ เพราะเห็นได้ว่าเป็นเรื่องอนาคตอันไกล แต่คุณรู้ไหมว่าโดยเฉลี่ยของคนไทยในปัจจุบัน จะมีอายุยืนประมาณ 78 ปี นั้นหมายความว่าหากเราเกษียณการทำงานตั้งแต่อายุ 60 ปี เราอาจจะต้องใช้ชีวิตในช่วงท้ายอีก 18 ปี คุณรู้หรือไม่ว่าเมื่อวันนั้นมาถึง จะต้องใช้จ่ายเท่าไหร่ แล้วคุณคิดว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไหมแต่หากคุณรอให้ถึงใกล้เกษียณแล้วจึงเริ่มออม คุณมั่นใจหรือไม่ว่าจะเก็บเงินได้ทันก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป มาสำรวจดีกว่าว่า วัยเกษียณของคุณจะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ เพื่อเริ่มต้นวางแผนตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทำอย่างไรดีหากเก็บเงินไว้ใช้ไม่พอตอนเกษียณ

หากคำนวณดูแล้วพบว่าคุณเตรียมเงินไว้ใช้จ่ายและทำตามฝันของคุณได้ตลอดช่วงเกษียณ      ของคุณ และพอเหลือทรัพย์สินเป็นมรดกให้คุณที่รักบ้างก็ถือว่าคุณประสบความสำเร็จใน การวางแผนการเงินเป็นอย่างดี แต่ถ้าพบว่าไม่สามารถเก็บเงินได้พอใช้ในวัยเกษียณ ควรรีบพิจารณา    ดังนี้

1. คุณอาจยังไม่พร้อมจะเกษียณได้ตามที่คิดไว้ อาจต้องเตรียมตัวยืดเวลาการทำงาน     ออกไปอีก
2. รีบเก็บเงินออมเพิ่มขึ้น ยิ่งเร็วยิ่งดี และควรเก็บอย่างสม่ำเสมอ
3. นำเงินเก็บของคุณไปลงทุน เพื่อเพิ่มมูลค่าให้งอกเงย โดยหาวิธีลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้เงินช่วยทำงานแทนคุณอีกทาง
4. หารายได้เสริม ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหลังเกษียณ และอาจตัดสิ่งที่คุณวาดฝันเอาไว้ออกไป รวมทั้งดำรงชีวิตอย่างประหยัดและดูแลสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ลง
เกษียณก่อนกำหนด
โอกาสเกษียณก่อนกำหนดนั้นอาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ซึ่งมีทั้งแบบสมัครใจ และไม่สมัครใจ

·         เกษียณแบบสมัครใจ อาจเกิดขึ้นจากความตั้งใจ เช่น ขอเข้าโครงการเกษียณก่อนอายุ 60 ปี ( Early Retire ) ซึ่งส่วนใหญ่จะได้เงินมาก้อนหนึ่งเพื่อใช้จ่าย มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอายุงานและเงินเดือนในเดือนสุดท้าย
·         เกษียณแบบไม่สมัครใจ หรือเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝันมาก่อน เช่น มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือผลจากสภาวะเศรษฐกิจที่ทำให้นายจ้างต้องลดกำลังคน เป็นต้น ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่าอนาคตจะมีเงินเพียงพอสำหรับใช้จ่ายในวัยเกษียณหรือไม่ คงถึงเวลาแล้วที่คุณต้องนึกถึงการออม และการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพียงพอสะสมเงินเก็บไว้ให้ได้ตามเป้าหมาย เช่น

       กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
       กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ  (RMF)


 แต่ไม่ว่าจะเกษียณแบบไหนสิ่งที่คุณต้องทำคือ ตรวจสอบเงินเก็บของคุณว่ามีเพียงพอกับชีวิตหลังเกษียณหรือไม่ เพื่อจะใช้ชีวิตบั้นปลายได้อย่างมีความสุข

บทที่ 6 การวางแนการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย

บทที่  6
การวางแนการเงินเพื่อที่อยู่อาศัย


รายจ่ายเพื่อที่อยู่อาศัย

ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ซึ่งจำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ทุกคน พัฒนาการที่อยู่อาศัยของมนุษย์เกิดขึ้นจากปัจจัยต่าง ๆ หลายประการ เช่น สภาพแวดล้อมของภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง เทคโนโลยี ระเบียบและวัฒนธรรมประจำถิ่น ยิ่งสังคมมีการพัฒนามากขึ้นเท่าใด ที่อยู่อาศัยก็ยิ่งมีการพัฒนาควบคู่ไปด้วยมากขึ้นเพียงเท่านั้น จนเกิดเป็นรูปแบบของที่อยู่อาศัยต่างๆ มากมาย เพื่อตอบสนอง ความต้องการพื้นฐาน และความพึงพอใจของผู้อยู่อาศัยให้ได้มากที่สุด แม้ว่าบุคคลทั่วไปจะมีความต้องการ ที่จะมีบ้านเป็นของตนเอง อันเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานก็ตาม แต่ข้อจำกัดเกี่ยวกับงบประมาณ รสนิยม ลักษณะอาชีพ จำนวนสมาชิกในครอบครัว และความต้องการความสะดวกสบายในด้านต่าง ๆ ทำให้บุคคลหลายคนมีความจำเป็น ในเรื่องที่อยู่อาศัยแตกต่าง กันไป อย่างไรก็ตามบุคคลส่วนใหญ่ก็ชอบที่จะมีชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี หมายถึงการมีที่อยู่อาศัยเหมาะสม กับความต้องการให้มากที่สุด เท่าที่จะมากได้ ปัจจัยพื้นฐานในการเลือกที่อยู่อาศัย ผู้ซื้อไม่ได้ซื้อเพียงตัวบ้านเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงความพอใจในการอยู่อาศัยร่วมด้วย ซึ่งความพอใจที่ว่าคือ อรรถประโยชน์ที่ผู้ซื้อจะได้รับตามขนาดของบ้าน ความสะดวกสบาย เพื่อนบ้านรวมถึงสิ่งแวดล้อมอื่นใด ที่ผู้ซื้อต้องการเพื่อความสุขในการพักอาศัยและใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัว โดยนัยแล้วรูปแบบหลักของการมีที่อยู่อาศัย มีอยู่ด้วยกัน 2 แบบ คือ การซื้อและการเช่า
ประเภทของที่อยู่อาศัย

1.            บ้านเดี่ยว (Single – family home) เป็นแบบบ้านที่อยู่อาศัยที่มีคนนิยมมากที่สุด ลักษณะเป็นบ้านตั้งอยู่เดี่ยว ๆ มีเนื้อที่กว้างขวาง รั้วรอบขอบชิด ทำให้ผู้อาศัยมีความเป็นส่วนตัวได้มากและห่างไกลจากการรบกวนของเพื่อนบ้าน นอกจากนั้นมีบ้านเดี่ยวยังเป็นการสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เป็นเจ้าของด้วย เพราะบ้านแต่ละหลังมีขนาดใหญ่เล็กต่างกัน สามารถตกแต่งได้ในรูปแบบต่าง ๆ ตามฐานะและรสนิยมของผู้เป็นเจ้าของ
2. อาคารพาณิชย์ หรือตึกแถว (Shop house) เป็นแบบบ้านที่นิยมกันมาก เพราะนอกจากจะใช้เป็นที่อยู่อาศัยแล้ว ยังสามารถดัดแปลง ให้เป็น สถานที่ทำการค้า หรือธุรกิจได้ด้วย อาคารแบบนี้มักมีเนื้อที่แคบ จึงนิยมก่อสร้างกันหลาย ๆ ชั้น
3. ทาวน์เฮาส์ (Townhouse) เป็นบ้านที่มีลักษณะเหมือนตึกแถว บ้านประเภทนี้มักตั้งอยู่ในเมือง ต่างกับตึกแถวตรง ที่มีบริเวณหน้าบ้าน จัดเป็นสวนขนาดย่อมและจอดรถได้ทาวน์เฮาส์ส่วนใหญ่มักเป็นแบบ 2 – 3 ชั้น ใช้เนื้อที่ค่อนข้างน้อย เนื่องจากเป็นที่ในเมืองราคาแพง
4. แฟลต หรืออพาร์ทเม้นท์ (Flat or apartment) เป็นที่อยู่อาศัยที่มีลักษณะคล้ายอาคารพาณิชย์ คือมีหลาย ๆ ชั้นแบ่งเป็นหลัง ๆ มีไว้เพื่อให้เช่าที่อยู่อาศัยแบบนี้ ส่วนมากค่าเช่ามักจะสูงเพราะตั้งอยู่ในทำเลที่ดีและมีสิ่งอำนวยความสะดวกปลอดภัยไว้ครบ
5. คอนโดมิเนียม (Condominium) หรืออาคารชุด เป็นอาคารที่มีหลายชั้นแต่ละชั้นแบ่งเป็นห้องชุดจำนวนมาก ซึ่งภายในห้องชุดประกอบด้วย ห้องนอน ห้องรับแขก ห้องน้ำ อาคารชุดแต่ละแห่งมักมีสิ่งอำนวยความสะดวกครบถ้วน โดยทั่วไปแล้วอาคารชุดจะตั้งอยู่กลางในเมือง หรือในที่ชุมชนที่มีการคมนาคมสะดวก อาคารชุดมีหลายประเภททั้งประเภทที่อยู่อาศัย (Apartment condominium) และประเภทสำนักงาน (Office condominium) ผู้ซื้ออาคารชุดจะมีกรรมสิทธิ์เป็นเจ้าของอาคารชุดของตนและมีกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินส่วนกลาง อันได้แก่ ห้องโถง ที่จอดรถ ลิฟต์ สนามและทางเดิน เป็นต้น ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาทรัพย์สิน
6. สหกรณ์เคหสถาน (Cooperative housing) เป็นที่อยู่อาศัยแบบสหกรณ์ลักษณะเป็น อพาร์ตเม้นต์คอมเพล็กซ์ คล้ายคอนโดมิเนียม ที่อยู่อาศัยประเภทนี้ เกิดขึ้นโดยผู้ต้องการที่อยู่อาศัยจะลงทุนซื้อหุ้นของสหกรณ์ และสหกรณ์จะนำเงินนั้นไปซื้อที่ดินและสร้างอาคารให้สมาชิกได้เช่าอยู่ สมาชิกต้องช่วยกันออกค่าบำรุงรักษา ซ่อมแซม ค่าภาษี สมาชิกแต่ละหน่วยมีสิทธิ์ออกเสียงได้หนึ่งเสียงในการเลือกคณะกรรมการบริหาร
7. บ้านเคลื่อนที่ (Mobile home) เป็นบ้านที่สร้างสำเร็จรูปจากโรงงาน และย้ายมาติดตั้งในทำเลที่กำหนดให้เป็นพื้นที่ของบ้านเคลื่อนที่ ผู้เริ่มครอบครัวใหม่นิยมอยู่บ้านเคลื่อนที่เพราะราคาไม่แพงนัก บางคนก็ใช้บ้านเคลื่อนที่เป็นสำนักงานเคลื่อนที่เช่น ผู้รับเหมาเวลาไปรับเหมาก่อสร้างตามแหล่งทีรับเหมาต่าง ๆ บ้านแบบนี้สามารถขับเคลื่อน หรือพ่วงกับรถคันอื่นได้ ลักษณะภายในมีเครื่องอำนวยความสะดวกเหมือนบ้านทั่วไป บ้านแบบนี้ในเมืองไทยยังไม่ค่อยนิยม เท่าที่มีในขณะนี้เป็นของดาราภาพยนตร์ หรือนักแสดงที่ต้องเดินทางเสมอก็จะซื้อรถยนต์ขนาดใหญ่ ปรับปรุงภายในให้เป็นเหมือนบ้านคือ มีห้องนอน ห้องเตรียมอาหาร ห้องน้ำ เพียงแต่ละห้องมีขนาดเล็กเท่านั้น
8. บ้านที่แบ่งเวลาการพักอาศัย (Time – hare home) บ้านแบบนี้ตามชื่อก็บอกลักษณะให้ทราบว่า มีการแบ่งเวลา หรือหมุนเวียนกันเพื่อใช้ประโยชน์ ในบ้านพักอาศัยดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ในการพักผ่อน เช่น บ้านพัก หรือเรือนรับรอง ที่อยู่ตามชายหาด หรือแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ โดยมีบุคคล บริษัท หรือโครงการจัดสรร เป็นเจ้าของใครต้องการไปพักผ่อนในช่วงไหน ก็เช่าใช้บ้านพัก ในช่วงนั้น ซึ่งจะมีการแบ่งเวลากันในระหว่างผู้ต้องการใช้มีตั้งแต่ 1 สัปดาห์จนถึง 6 เดือนราคาเช่าก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เป็นต้นว่า ระยะเวลาในการเช่า ขนาดของบ้าน ทำเลที่ตั้ง สิ่งอำนวยความสะดวก ตลอดจนฤดูกาลของการเช่าพัก ปัจจุบันมีคอนโดมิเนียมบางแห่ง ซึ่งได้ขายไปแล้ว ก็ยังให้บริการในลักษณะของ Time sharing ด้วย คือขณะใดขณะหนึ่งที่เจ้าของไม่ได้อยู่เอง ก็มอบหมายให้ผู้จัดการคอนโดมิเนียมนั้น ดูแลให้โดยหาผู้ต้องการ พักผ่อนในช่วงดังกล่าว มาเช่าอยู่แทน ซึ่งทำให้เจ้าของมีรายได้ขณะที่ไม่ได้ใช่อยู่อาศัยเอง เพียงแต่จ่ายค่าบริการดังกล่าวบ้างเท่านั้น

บทที่ 5 การออมเงิน

บทที่  5
การออมเงิน

การออมเงิน (seving) หมายถึง การแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากรายได้ที่หักจากค่าใช้จ่ายแล้ว นำมาเก็บไว้เพื่อสะสมไว้ใช้จ่ายในอนาคต สะสมเงินทีละเล็กทีละน้อยให้พอกพูนยิ่งขึ้น แทนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายซื้อหาความสุขตามใจที่ต้องการ

มีหลายท่านบอกว่า “หาเงินก็แทบไม่พอใช้อยู่แล้ว จะให้เอาเงินที่ไหนมาเก็บ”  อันที่จริงแล้วให้เราย้อนกลับมองดูที่ตัวเราเองก่อนว่าเราใช้จ่ายอะไรไปบ้าง มีอะไรที่จำเป็นจริงๆ ที่ต้องใช้จ่าย นอกเหนือจากความจำเป็นต่อการใช้จ่ายแล้ว ส่วนมากเราจะไม่มีความอดทนต่อสิ่งเย้ายวนได้ต่างหากละ

จุดเริ่มต้นที่ดีของการออมเงิน

จุดเริ่มต้นที่ดีของการออมเงิน เพียงแค่เริ่มต้นวันละ  1 บาท เท่านั้นก็หมายความว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการออมเงินที่ดีแล้วค่ะ ต่อไปก็ให้เพิ่มจำนวนมากขึ้นไปเรื่อยๆ ตามรายได้ของเราให้ทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัยส่วนตัว แล้วเงินทองจะไปอยู่ที่ไหนกันถ้าไม่อยู่กับเรา
เงินทองไม่มีแขนขา ที่จะเดินหนีจากเราไปไหนได้ และก็ไม่สามารถที่จะวิ่งมาหาเราได้เช่นกัน อยู่ที่ว่าเราจะรู้จักหา และเก็บออมเงินอย่างไร 

วิธีการออมเงิน

ออมเงินกันอย่างไรมีหลายท่านบ่นกันมาก วิธีการออมเงินนั้นมีอยู่ด้วยกันหลายวิธี เราไม่ต้องคิดอะไรให้มากเลยค่ะ เพียงนำเงินที่เหลือจากไปโรงเรียน หรือจากการทำงานหลือเงิน 5 บาท 10 บาท ของในแต่ละวันนำมาหยอดกระปุกออมสินไว้ พอถึงสิ้นเดือนก็ให้นำเงินไปออมในบัญชีประจำของเรา เมื่อเรามีเงินออมมากแล้วให้แบ่งเงินออมบางส่วนไปลงทุนผลิดอกออกผล แต่ที่สำคัญผู้ออมควรมีระเบียบวินัยในการออมให้มากๆ   รายละเอียดวิธีการออมเงิน
หลักในการออมเงินมีอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ
วิธีที่ ออมเงินในลักษณะถูกบังคับ อาทิเช่น การฝากประจำโดยให้หักเงินจากบัญชีเงินเดือน สมัครกองทุนเลี้ยงชีพ หรือซื้อหุ้นของออมทรัพย์ ข้อนี้ให้คุณติดต่อสอบถามกับฝ่ายบุคคลได้เลย
ข้อเสียคือ เงินที่ฝากไม่สามารถเบิกมาใช้จ่ายตามใจเราได้
วิธีที่ 2 ออมเงินด้วยความเติมใจ อาทิเช่น เก็บเงินที่เหลือในแต่ละวันหยอดกระปุก นำเงินที่มีอยู่ไปฝากแบบไม่ประจำ
ข้อเสียคือ มีระเบียนวินัยในการออมน้อย เพราะสามารถนำเงินออกมาใช้จ่ายเมื่อใดก็ได้ ตามความต้องการ

การออมเงินมีข้อดีอย่างไร

1.            สร้างความเป็นอยู่ฐานะ ในอนาคตให้ดีขึ้น
2.            มีเงินใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน  หรือในยามจำเป็นเจ็บไข้ได้ป่วย
3.            สร้างอนาคตความเป็นอยู่ที่มั่นคง
4.            หลุดพ้นจากการเป็นหนี้
5.            สามารถมีเงินลงทุนได้ในอนาคต
ข้อคิดสำหรับการออม

เรื่องของการออมที่จะออมอย่างไรนั้น มีหลายวิธีที่เราสามารถเลือกใช้ในการออมเงินได้ ไม่ว่าจะเป็นการฝากประจำ และไม่ประจำกับทางธนาคาร หรือเลือกที่จะออมเงินไว้กับตัวเราเองก็ได้ แต่วิธีนี้เราต้องมีระเบียบวินัยที่สูงในการออม เพราะเงินอยู่ใกล้ตัวสามารถนำออกมาใช้จ่ายได้ตลอดเวลา

บทที่ 4 งบการเงินส่วนบุคคล

บทที่  4
                  งบการเงินส่วนบุคคล
                  งบการเงินส่วนบุคคลที่สร้างขึ้นมานั้น บอกถึงสภาพการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบันของลูกค้า นักวางแผนทางการเงินจะต้องช่วยลูกค้ามองไปในอนาคตด้วยว่าข้อมูลรายได้รายจ่ายของลูกค้าจะเป็นไปอย่างไร ในตอนนี้จะอธิบายถึงงบประมาณล่วงหน้า (Budget หรือ Spending Plan)
ปัญหาทางการเงินส่วนใหญ่ของลูกค้า คือ การใช้จ่ายเกินตัว (Overusing Credit) การขาดแผนการออมอย่างต่อเนื่อง (Lacking a Regular Saving Program) เป็นต้น ปัญหาดังกล่าวนี้ลดทอนหรือแก้ไขได้โดยการควบคุมตัวเลขงบประมาณส่วนบุคคลนี้
16.1 วัตถุประสงค์ของงบประมาณส่วนบุคคล มี 5 ข้อ ดังต่อไปนี้
1. เพื่อให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ด้วยรายได้ของแต่ละบุคคล (Live within your income)
2. เพื่อให้ใช้จ่ายเงินได้อย่างชาญฉลาด (Spend your money wisely)
3. เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทางการเงินที่ต้องการ (Reach your financial goals)
4. เพื่อให้มีการเตรียมพร้อม เมื่อมีความต้องการทางการเงินแบบฉุกเฉิน (Prepare for financial emergencies)
5. เพื่อให้มีการพัฒนานิสัยการบริหารการเงินอย่างชาญฉลาด (Develop wise financial management habits)
16.2 ขั้นตอนการจัดทำงบประมาณส่วนบุคคล
ขั้นตอนที่1   กำหนดเป้าหมายทางการเงิน (Setting financial goals)
เป้าหมายทางการเงิน เป็นสิ่งที่เราต้องการบรรลุในอนาคตซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนกำหนดตัวเลขทางการเงินในการใช้จ่าย การออม และการลงทุน ซึ่งในแต่ละช่วงชีวิต หรือสถานการณ์ของแต่ละบุคคลจะมีเป้าหมายทางการเงินไม่เหมือนกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินในงบประมาณส่วนบุคคลจะมีการกำหนดเป้าหมายทางการเงินเป็นตัวเลขเชิงปริมาณ และกระจายไปเป็นตัวเลขในงบประมาณในอนาคตว่าเราจะต้องออมเพิ่มอีกเท่าไร ต้องลดการใช้จ่ายลงเท่าใดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายได้
ขั้นตอนที่2   ประมาณการรายได้ (Estimating income)
จะต้องมีการประมาณการว่าในอนาคตรายได้ซึ่งเป็นกระแสเงินสดไหลเข้าของลูกค้าจะมีอะไรบ้างมาจากการทำงาน การลงทุนเท่าใด ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการมีรายได้เพิ่ม การทำประมาณการร่วมกันจะช่วยลูกค้าได้เห็นว่ารายได้สูงสุดที่เขาจะหาได้จะเป็นเท่าใด ควรสร้างโอกาสให้มีรายได้เพิ่มพูนขึ้นได้อย่างไร เพราะจะเป็นโอกาสให้มีฐานเงินออมให้ต่อยอดความมั่งคั่งเพิ่มต่อไป เช่น การมีรายได้จากงานพิเศษนอกเหนือจากงานประจำ การไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนซึ่งเรียกว่า ให้เงินทำงาน ไม่ใช่ใช้ร่างกาย (human assets) ทำงานเพื่อหาเงินเพียงอย่างเดียว
ขั้นตอนที่การกันงบประมาณเพื่อออมและเพื่อเหตุฉุกเฉิน (Budgeting an emergency fund and savings)
ลูกค้าควรได้รับการแนะนำให้กันเงินจากรายได้ไว้ก่อนเลยเพื่อกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นและเพื่อการออมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน นักวางแผนทางการเงินส่วนใหญ่แนะนำว่าเงินที่กันไว้เผื่อเหตุฉุกเฉินควรมีประมาณ 3-6 เดือนของค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ (Living expenses) ซึ่งถือว่า พอจะช่วยให้เกิดความมั่นคงรองรับความผันผวนในระยะสั้นเกี่ยวกับสถานการณ์ของชีวิต และการทำงาน

ขั้นตอนที่4   ประมาณการค่าใช้จ่ายคงที่ (Budgeting Fixed Expenses)
ในขั้นตอนนี้ให้นำรายการค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นประจำและค่อนข้างคงที่ เช่น ค่าใช้จ่ายในการชำระหนี้ ค่าบ้าน รถยนต์ ภาษี หรือ ประกันชีวิต   มารวมอยู่ในกลุ่มค่าใช้จ่ายนี้ คนที่มีภาระมากๆไปก่อหนี้ไว้มาก ค่าใช้จ่ายคงที่ในส่วนนี้ก็จะสูง บางครั้งการแนะนำให้กันรายได้ไว้ก่อนตามขั้นตอนที่3 ก็ไม่อาจทำได้ เพราะกลัวว่าจะไม่พอจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ นอกจากนี้ถ้าดูจากวัฏจักรชีวิต ยิ่งคนมีอายุมากขึ้นภาระการจ่ายค่าใช้จ่ายคงที่ควรจะลดลง ตัวอย่างเช่น การกู้ซื้อบ้าน รถยนต์ มักจะทำเมื่อตอนเริ่มทำงานไปไม่นาน และทยอยผ่อนชำระไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้มีโอกาสออมเพื่อให้ฐานของความมั่งคั่งมีมากขึ้น

บทที่ 3 การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล

บทที่ 3

การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล


 การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล
การวางแผนการเงินส่วนบุคคล

"แม้พ่อแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิดชีวิตกับเรา แต่ที่จะทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดได้ก็คือ เงิน..."
คำสุภาษิตของชาวญี่ปุ่นที่ยกมานี้ อาจจะดูแปลกๆพิกล แต่มันก็เป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้โดยสิ้นเชิงว่า การมีเงินมากเพียงพอ จะทำให้ชีวิตของเราอยู่ได้โดยตลอดรอดฝั่ง แต่การจะทำให้มีมากเพียงพอนั้นเป็นภารกิจที่ทุกคนต่างก็ยอมรับกันโดยถ้วนหน้าว่า ยากและหนักหนาสาหัสสากรรจ์เอาเรื่องทีเดียว ไม่ใช่แค่ที่จะต้องมีวินัยในการออมเท่านั้น แต่เรายังต้องมีแผนการลงทุนที่ดีและมีประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะทำให้เราสามารถก้าวข้ามอุปสรรคขวากหนามอย่างเช่น ภาษี เงินเฟ้อ และค่าใช้จ่ายเพื่อสนองความต้องการของเราเอง ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ทรัพย์สินของเราไม่สามารถเพิ่มพูนได้อย่างที่ฝันไว้
การวางแผนการเงินส่วนบุคคล (Personal Financial Planning) คืออะไร

การวางแผนการเงินส่วนบุคคล คือการสร้าง ใช้งาน ปรับปรุง และแก้ไข แผนงานเพื่อความสำเร็จตามเป้าหมายการเงินของบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ โดยแนวคิดของแผนเน้นถึง เป้าหมาย นับตั้งแต่จุดแรกเริ่มของการวางแผนการลงทุน มากกว่าการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบใดแบบหนึ่ง หรือมากกว่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการเงินบางปัญหาเท่านั้น

เป้าหมายทางการเงิน (Financial Goals)

คนเราแต่ละคน ย่อมจะมีเป้าหมายทางการเงินที่แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยสภาพแวดล้อม จุดมุ่งหมายในชีวิต ทัศนคติ และความต้องการตามนิสัยส่วนตัวของแต่ละคน อย่างไรก็ตาม เป้าหมายทางการเงินโดยรวมของผู้คนส่วนใหญ่ สามารถแยกแยะออกได้ดังนี้

1. ปกป้องความเสี่ยงเฉพาะตน

ความเสี่ยงในการเสียชีวิตก่อนเวลาอันสมควร
ความเสี่ยงในการสูญเสียความสามารถในการทำงาน หรือทุพพลภาพ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล
ค่าใช้จ่ายในการดูแลตนเองในระยะยาว
การสูญเสียทรัพย์สิน หรือหนี้สิน
การว่างงาน

2. สะสมเพิ่มพูนทรัพย์สิน
เพื่อใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน
เพื่อใช้จ่ายภายในครอบครัว
เพื่อการศึกษา
เพื่อการลงทุนโดยทั่วไป

3. สำรองเมื่อยามแก่เฒ่า

4. การวางแผนทางภาษี

5. เพื่อการจับจ่ายซื้อหาอสังหาริมทรัพย์

6. เพื่อการบริหารทรัพย์สิน

โดยปกติ ผู้คนจำนวนมากมักจะเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินและการลงทุนหลายรูปแบบ เพื่อที่จะสามารถทำให้ตนบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะฉะนั้นเครื่องมือทางการลงทุนพื้นฐานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวม ประกันภัย รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญสำหรับการวางแผนการเงินส่วนบุคคล รวมไปถึงการตัดสินใจว่าจะวางนโยบายการลงทุนในรูปแบบใด ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการวางแผนการเงินเช่นกัน นโยบายที่ว่าก็อาจเป็นเรื่องของการจัดสรรแบ่งอัตราส่วนการลงทุนว่าควรจะนำเงินไปลงทุนในหุ้นเท่าไร ตราสารหนี้มากน้อยแค่ไหน และควรจะทำประกันภัยอะไรบ้าง
ในการวางแผนการเงินเราควรจะตั้งสมมุติฐาน ทั้งในแบบที่สมเหตุสมผล และที่อาจจะดูเพ้อฝันไปบ้าง เกี่ยวกับลมฟ้าอากาศ ทิศทางลมทางเศรษฐกิจ ไปพร้อมกับการจัดทำแผน แต่เมื่อได้แผนมาแล้ว ใครหลายๆคนก็มักจะไม่ค่อยดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ในการตัดสินใจในแต่ละวัน มักจะมีการออกนอกลู่นอกทางเสมอ ขึ้นอยู่กับปัญหาที่วิ่งเข้ามาหา หรือคำบอกเล่าของเหล่านายหน้าโบรกเกอร์ทั้งหลาย เพราะฉะนั้นหลักการสำคัญสำหรับนักวางแผนทางการเงินที่ดี จะต้องช่วยดูแลและนำเสนอนโยบายและแผนการลงทุนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับความสามารถในการตัดสินใจการลงทุนสำหรับลูกค้าแต่ละคน
แผนการเงินเหมาะสมกับใครบ้าง

ผู้คนจำนวนมากอยากจะมีแผนการลงทุนที่ดี แต่สำหรับคนที่มีมากหรือพวกที่ร่ำรวยอยู่แล้วก็มักจะหันไปหานักวางแผนการเงินเป็นส่วนใหญ่ แต่ในความเป็นจริงคนที่ไม่ค่อยได้รับความสนใจ อาจจะมีความต้องการมากกว่าคนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว เพราะเงินทุกบาททุกสตางค์ที่ได้มา หรือมูลค่าของเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้น มีความหมายกับคนเหล่านั้นมากกว่าบรรดาเศรษฐีทั้งหลายอย่างแน่นอน และด้วยการศึกษาที่สูงขึ้น การมุ่งมั่นทำงานหนัก ตามมาด้วยความสำเร็จ ก็ยิ่งทำให้ คนทำงานต่างต้องการที่จะได้แผนการเงินและการลงทุนที่แยบยลมากกว่าที่เคยเป็น โดยดูได้จากตัวเลขของคนที่มีรายได้ที่มากพอ มีทรัพย์สิน หรือผู้ที่ได้รับมรดก ที่หันมาใช้บริการของการวางแผนในเรื่องของการลงทุน การวางแผนในเรื่องภาษี หรือการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ภาพรวมของการวางแผนการเงิน ประกอบไปด้วย การสร้างแบบแผนพิเศษหลายลักษณะ ยกตัวอย่างเช่น การวางแผนการลงทุน ซึ่งเน้นการเพิ่มและสะสมมูลค่าของทรัพย์สิน รวมทั้งการบริหารพอร์ตการลงทุนทั้งหมด การวางแผนภาษี คือการวางแผนลดภาระภาษี ปรับถ่ายเท หรือเลื่อนกำหนดการเสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย ส่วนการบริหารอสังหาริมทรัพย์ เน้นหนักในเรื่องของการวางแผนการโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้กับทายาทหรือผู้รับมรดก ทั้งในช่วงระหว่างที่ยังคงมีชีวิตอยู่และหลังจากที่เสียชีวิตไปแล้ว เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ของบุคคลนั้นโดยมูลค่าของทรัพย์สินไม่ลดลงไปจากเดิม ในขณะเดียวกัน การทำประกันชีวิต คือการใช้ประโยชน์สูงสุดของกรมธรรม์ประกันชีวิตและสุขภาพ ซึ่งบริษัทประกันก็มักจะนำเสนอสินค้าอื่นๆที่น่าจะช่วยทำให้บรรลุถึงความต้องการของการลงทุน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมหรือการสะสมทรัพย์รายปีต่างๆ (Annuities)

นักวางแผนการเงิน (Financial Planner) นักการธนาคาร นายหน้าหรือ broker นักกฎหมาย นักบัญชี และตัวแทนประกันภัย ต่างก็มีส่วนในการช่วยทำให้ลูกค้าบรรลุถึงเป้าหมายทางการเงินได้ ซึ่งลูกค้าเองก็อาจจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุคคลเหล่านี้ทั้งหมด เพื่อให้ได้คำแนะนำที่ดีที่สุดจากผู้ชำนาญการแต่ละส่วน จึงอาจกล่าวได้ว่าการร่วมมือกันของแต่ละฝ่ายถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้การวางแผนการเงินประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี ดังนั้นรูปแบบของการนำเสนอของการวางแผนทางการเงิน จึงอาจจะต้องเป็นลักษณะที่เรียกว่า "การนำเสนอภาพรวม" comprehensive approach โดยนำเอาพื้นฐานสำคัญๆของแต่ละส่วนมารวมกัน ซึ่งพัฒนาและรู้จักกันดีในรูปแบบของ "การวางแผนการเงินส่วนบุคคล" personal financial planning
จะต้องสูญเสียเท่าไร ถ้าไม่มีแผน

อย่างที่คนโบราณเคยกล่าวไว้ว่า "ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม เราก็ควรจะเตรียมตัวที่จะล้ม" แต่ผู้คนโดยมากก็มักจะลืมหรือไม่เตรียมวางแผนเอาไว้ ด้วยเหตุผลหลายอย่าง ทั้งแนวคิดหรือทัศนคติที่มีอยู่ในตัวเราหลายคน ที่ว่า ไม่ได้มีทรัพย์สินหรือรายได้มากมายพอที่จะต้องการการวางแผน หรือไม่ฐานะการเงินก็อยู่ในลักษณะที่เรียกว่า อยู่ตัวอยู่แล้ว ซึ่งข้อสมมุติฐานทั้งสองข้อ ถือว่าไม่ถูกต้อง หรือบางท่านอาจจะกลัวการวางแผน เพราะจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับเรื่องที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์นัก อย่างเรื่องของการเสียชีวิต พิการทุพพลภาพ การไม่มีงานทำ สูญเสียทรัพย์สิน หรือการไร้ซึ่งความสามารถในการทำมาหากิน สุดท้ายหลายท่านก็คิดหนักกับค่าบริการในการให้คำปรึกษาทำให้ต้องเลื่อนการตัดสินใจที่จะลงมือทำอะไรต่อไป

ในขณะที่เรามีเหตุผลซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าทำไมเราจึงไม่ใส่ใจกับการวางแผนการเงิน แต่ค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการขาดแผนที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งนั้น มีทั้งการสูญเสียโอกาส ภาระภาษีที่หนักเกินความจำเป็น รวมไปถึงการสูญเสียส่วนบุคคลบางอย่างซึ่งอาจจะสูงมากจนคาดไม่ถึง อาทิเช่น ครอบครัวอาจจะไม่ได้รับความคุ้มครองหรือได้รับความคุ้มครองแต่ไม่เพียงพอ ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่น่าพึงประสงค์ ทั้งการเสียชีวิตของผู้นำครอบครัว หรือพิการทุพพลภาพ การเจ็บป่วยที่ร้ายแรง อุบัติเหตุทางรถยนต์ การว่างงานที่ยืดเยื้อติดต่อกันยาวนาน หรือความเสี่ยงของชีวิตในรูปแบบอื่นๆที่มีอยู่มากมายในสังคมสมัยนี้ จากตัวเลขในสหรัฐอเมริกา พบว่า ในบรรดาผู้พิการ 40 ล้านคน มีเพียงหนึ่งในสามเท่านั้น ที่เกิดความพิการมาตั้งแต่กำเนิด เพราะฉะนั้นโอกาสของความเสี่ยงต่อร่างกายและชีวิตของคนเรานั้น มีไม่น้อยเลยทีเดียว

นอกจากนั้นแล้วเราก็อาจจะไม่สามารถจัดหาทุนรอนได้เพียงพอกับค่าการศึกษา ค่าใช้จ่ายเมื่อตอนเกษียณอายุ หรือเพียงพอกับความต้องการบางอย่างในอนาคตที่อาจจะโผล่ขึ้นมาโดยไม่ทันตั้งตัว
ส่วนครอบครัวซึ่งมีธุรกิจเป็นของตนเอง หากขาดการวางแผนที่ดี เมื่อเกิดเหตุเสียชีวิตของผู้นำครอบครัว หรือพิการทุพพลภาพ การสืบทอดธุรกิจอาจกระท่อนกระแท่น หากผู้นำคนใหม่กำลังอยู่ในช่วงอารมณ์ของการสูญเสีย หรือขาดไร้ซึ่งประสบการณ์ จนไม่สามารถปกครองลูกจ้าง พนักงาน ขาดความน่าเชื่อถือ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการบริหารทรัพย์สินที่สลับซับซ้อนได้ ลงทุนในช่วงที่อารมณ์แปรปรวนไม่เหมาะที่จะตัดสินใจ

ในขณะเดียวกับที่ผู้คนรอบข้างต่างก็พยายามจะแสดงความคิดเห็นแนะนำ แต่ก็เพียงเพื่อประโยชน์ของผู้ที่อยู่รอด ไม่มองไปถึงผลลัพธ์ที่จะตกถึงลูกถึงหลานซักเท่าไรนัก
ค่าความเสียหายอีกแบบหนึ่งสำหรับผู้ที่มีจุดมุ่งหมายแต่ขาดการวางแผน อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่คนเหล่านั้นยึดติดอยู่กับนายจ้างเดิม ขลาดกลัวไม่กล้าที่จะเปลี่ยนงาน เพราะไม่สามารถรับมือกับต้นทุนที่จะเกิดขึ้นได้ ดังนั้นการมีแผนบริหารการลงทุนส่วนบุคคลที่ดี จะสามารถทำให้สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างที่ต้องการ
เริ่มต้นกันดีกว่า

ขั้นตอนของการวางแผนทางการเงินโดยปกติแล้ว เป็นเรื่องของการแปลความเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายของบุคคลหนึ่งบุคคลใดออกมาเป็นแผน หลังจากนั้นจึงแก้สมการออกมาเป็นเรื่องของการเงินและการลงทุนเพื่อดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งขั้นตอนต่างๆมักจะประกอบไปด้วย

ขั้นที่ 1รวบรวมข้อมูลด้านการเงิน

การจะวางแผนกิจกรรมต่างๆให้ได้ดี จำเป็นที่จะต้องมีข้อมูลพื้นฐานที่สมบูรณ์พร้อม ซึ่งข้อมูลที่ต้องการจะมากน้อยหรือเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ย่อมขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ แต่ส่วนมากมักจะเป็นเรื่องของการลงทุนส่วนบุคคล รายได้และรายจ่าย กรมธรรม์ประกันภัยที่ถืออยู่ การเตรียมการเมื่อเกษียณอายุ หรือไม่ก็เรื่องของพินัยกรรม ซึ่งขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอาจจะไม่จำเป็นต้องลึกถึงแก่น หรือมากมายเป็นกองพะเนิน เพราะในบางครั้งแค่ข้อมูลน้อยนิดก็อาจจะทำให้แผนงานสำเร็จลงได้ หากเรารู้ว่าเรากำลังมองหาอะไร

ขั้นที่ 2< กำหนดเป้าหมาย

เป็นเรื่องจำเป็นอยู่เองที่เราจะต้องกำหนดเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายให้ชัดเจนและตรงประเด็นให้ได้มากที่สุด และเมื่อเราได้เป้าหมายมาแล้ว ก็ต้องเข้าใจเอาไว้ด้วยว่า เป้าหมายที่ว่านี้อาจจะไม่คงอยู่ถาวร มีการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ สิ่งใดที่เหมาะสมหรือคิดว่าดีสำหรับคู่หนุ่มสาวเมื่อกำลังอยู่ในช่วงฮันนีมูน อาจจะไม่เข้าท่ากับครอบครัวที่มีลูกกำลังเรียนมหาวิทยาลัย หรือคู่ตายายที่กำลังจะย่างเข้าวัยเกษียณอายุ

ขั้นที่ 3 วิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบัน สรรหาทางเลือก

ขั้นตอนที่สามของกระบวนการวางแผนคือการวิเคราะห์สถานการณ์ปัจจุบันของบุคคล ที่จะมีผลต่อเป้าหมาย และการสรรหาทางเลือกเพื่อแก้ไขข้อเสียที่ตรวจพบ บ่อยครั้งที่บุคคลอาจจะเน้นหนักในบางเรื่อง แต่พร่องไปในส่วนอื่น เพราะฉะนั้นการปรับสมดุลของทุกส่วนจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

ขั้นที่ 4 พัฒนา และปรับเปลี่ยนแผน

อย่างที่เคยกล่าวเอาไว้แล้วว่า แผนการเงินและการลงทุนหนึ่งแผน ไม่ได้เหมาะกับคนทุกคน ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อม ความสลับซับซ้อนของสิ่งที่อยู่รอบตัว เพราะฉะนั้นข้อเสนอแนะที่ได้ย่อมจะแตกต่างกันไป แล้วแต่ว่าคนๆนั้นจะเป็นใคร อีกทั้งแผนก็อาจจะดำเนินต่อไป โดยที่บุคคลนั้นอาจจะไม่สามารถปฏิเสธบางส่วนของแผน ที่เขาเองไม่เห็นด้วย หรือไม่สามารถรับได้

ขั้นที่ 5 ทบทวนรายปี เปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม

ไม่มีแผนการเงินใดที่สามารถจัดทำ นำไปใช้แล้วจบได้ในครั้งเดียว ในเมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป แผนก็ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง เหตุการณ์ในแต่ละช่วงเวลาของบุคคลมีทั้งการเกิด การแต่งงาน การหย่าร้าง การเสียชีวิต เปลี่ยนงาน รวมทั้งปัจจัยอื่นๆที่ก้าวเข้ามาในชีวิต ซี่งมีผลทำให้เราจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนแผนการให้เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนที่ว่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่า บุคคลจะสามารถละเลยหรือขาดวินัยในการปฏิบัติตามแผนที่ได้ตกลงกันไว้ แต่ประเด็นควรจะอยู่ที่ว่า หลังจากที่ปฏิบัติผ่านไปแล้วในแต่ละปี เราควรมาศึกษา ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น
คำตอบสุดท้าย

ไม่ว่าจะมีแผนการเงินเพียงหนึ่งแผน หรือมากกว่านั้น แต่ก็ไม่มีอะไรที่จะสามารถรับประกันถึงผลที่ออกมาได้ เช่นเดียวกับการลงทุน แผนการเงินเป็นเรื่องของความน่าจะเป็น เกี่ยวเนื่องกับสิ่งที่คาดการณ์ ไม่ใช่เรื่องของความแน่นอน แต่โดยอาศัยความรู้ และวินัยในการปฏิบัติของบุคคลนั้น เราเชื่อว่า โลกจะเป็นของคนที่วางแผนเอาไว้ล่วงหน้าเสมอ

บทที่ 2 ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

บทที่ 2
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่ 9) ที่ทรงให้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยตลอดนานกว่า 30 ปี คือ ใช้จ่าย 3 ส่วน และเก็บออม 1 ส่วน ฉันและครอบครัวได้นำมาปฏิบัติทำให้มีความเป็นอยู่ดีขึ้น ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือ           
           1. พอมีพอกิน ปลูกพืชสวนครัวไว้กินเองบ้าง ปลูกไม้ผลไว้หลังบ้าน 2-3 ต้น พอที่จะมีไว้กินเองในครัวเรือน เหลือจึงขายไป
           2. พออยู่พอใช้ ทำให้บ้านน่าอยู่ ปราศจากสารเคมี กลิ่นเหม็น ใช้แต่ของที่เป็นธรรมชาติ (ใช้จุลินทรีย์ผสมน้ำถูพื้นบ้าน จะสะอาดกว่าใช้น้ำยาเคมี) รายจ่ายลดลง สุขภาพจะดีขึ้น (ประหยัดค่ารักษาพยาบาล)
           3. พออกพอใจ เราต้องรู้จักพอ รู้จักประมาณตน ไม่ใคร่อยากใคร่มีเช่นผู้อื่น เพราะเราจะหลงติดกับวัตถุ        
{ การนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน                            
 บ้านของฉันเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในชุมชนเขตบางซื่อ ครอบครัวของฉันอยู่แบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรง ดังนี้              
       1.ฉันจะช่วยคุณพ่อและคุณแม่ปลูกผักไว้กินเอง  บางวันผักบุ้งมีมากคุณแม่จะแบ่งให้เพื่อนบ้านบ้าง
       2.คุณพ่อของฉันและฉันมักเน้นเกี่ยวกับเรื่องไฟฟ้าและน้ำประปา ท่านให้พวกเราช่วยกันประหยัด ไม่ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือโรงเรียน ก็ควรปิดน้ำ ปิดไฟ เมื่อเลิกใช้งานทุกครั้ง                                                          
       3.ชีวิตในวัยเรียนของฉันนั้น ได้เริ่มปฏิบัติตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา โดยจะอยู่ในกิจกรรม “ออมวันนี้ เศรษฐีวันหน้า”            
       4.เมื่อมีรายได้แต่ละเดือน คุณแม่รวมถึงฉัน จะแบ่งไว้ใช้จ่าย 3 ส่วน เป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าจิปาถะ ที่ใช้ในครัวเรือน รวมทั้งค่าเสื้อผ้า เครื่องใช้บางอย่างที่ชำรุด เป็นต้น              
        5.คุณแม่ของฉันและฉันจะยึดความประหยัด ตัดทอนรายจ่ายในทุกๆ วันที่ไม่จำเป็น ลดละความฟุ่มเฟือย                                                                                                                                                                                                       { ข้อเสนอแนะ      
ฉันคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะดำเนินไปได้ดี ด้วยการ ประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนปฏิบัติตาม ที่ขอให้อย่าลืมที่จะปฏิบัติในเรื่อง ความขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทน ปฏิบัติตนเป็นคนดี ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายให้พอเพียง พอกิน และพอใช้ โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
ถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนควรร่วมมือ ร่วมใจ กันปฏิบัติตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงตั้งแต่ยังเด็ก แล้วจะติดเป็นนิสัยความพอเพียงไปตลอดชีวิต สามารถนำไปพัฒนาตน พัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ เป็นคนดีของสังคม


บทที่ 1 การบริหารการเงินส่วนบุคคลและการงานแผนทางการเงิน

บทที่  1
การบริหารการเงินส่วนบุคคลและการงานแผนทางการเงิน

               เงินมีบทบาทต่อบุคคลเป็นอย่างยิ่งเพราะมนุษย์จำเป็นต้องใช้เงินจับจ่ายใช้สอยสิ่งของจำเป็นสำหรับการดำรงชีพประจำวันของบุคคลเพราะเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่บุคคล เงินเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของบุคคลอย่างมากที่จะให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจสู่ความมั่นคงหรือความมั่นคง (Wealth) ในครอบครัวตน
1.  ความหมายของเงิน
                1.1  เงิน (Money)
                       เงิน (Money) คือ  สิ่งที่สังคมได้สมมุติขึ้น และเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปของสังคมในขณะนั้น  เพื่อใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ ใช้ในการชำระหนี้ตามความต้องการ (จรินทร์  เทศวาณิช 2526 : 16 )
                       เงิน (Money)  หมายถึง “สิ่งใด ๆ ที่สังคมยอมรับโดยทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่งและในเขตพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ในฐานะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการโดยใช้ชำระค่าสินค้าและบริการรวมทั้งการชำระหนี้ในปัจจุบันและในอนาคต” (วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน 2545 : 108)
                      เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการและใช้ชำระหนี้โดยใช้เป็นเครื่องวัดและมูลค่าและบริการเป็นหน่วยเงินตราตามเวลา สถานที่ที่กำหนด ดังนั้นเงินจึงเป็นที่ยอมรับจากประชาชนทั่วไปเงินที่ใช้ในระบบเศรษฐกิจแบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ เงินเหรียญ (Coins) เงินกระดาษ (Paper money) และเงินธนาคาร (Scriptural money) คือเงินฝากกระแสรายวันซึ่งจะต้องสั่งจ่ายตามคำสั่งของเจ้าของบัญชีเงินฝากกระแสรายวันด้วยเช็ค
1.2  การบริหารการเงินส่วนบุคคล  (Personal  literacy)
                      การบริหารการเงินส่วนบุคคล (Personal Literacy) เป็นทักษะการจัดการเงินของบุคคลว่าด้วยเรื่องการจัดหาเงินรายได้เพื่อมาใช้ในการดำรงชีพของบุคคลขณะเดียวกันจะต้องหาวิธีการหรือเทคนิคของการใช้จ่ายเงิน การออมและการลงทุนของบุคคลให้มีประสิทธิภาพจนบุคคลมีตามความมีอิสรภาพทางการเงิน (Financial Freedom) คือสภาวะมีอิสรเสรีภาพพอจะเลือกใช้ชีวิตและเลือกอาชีพแบบที่ตนเองต้องการโดยไม่ต้องกังวลว่าจะมีเงินไม่พอใช้จ่ายการบริหารการเงินส่วนบุคคลเป็นทักษะชีวิต (Life Skill) ของแต่ละบุคคลการศึกษาเรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคลมีเนื้อหาสาระครอบคลุมเรื่องต่อไปนี้
1.2.1           การหารายได้ (Earning)
1.2.2           การใช้จ่ายเงิน (Spending)
1.2.3           การออมเงิน (Saving)
1.2.4           การลงทุน (Investing)
2.  การวางแผนการเงินส่วนบุคคล และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
                การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคล (Personal financial planning)  คือ กระบวนการกำหนดแนวทางการใช้เงินอย่างมีทิศทางให้บรรลุเป้าหมายทางการเงิน เหมาะสมกับรายได้ที่ได้รับและเพื่อให้เกิดความมั่งคั่งทางเงินในอนาคต
                2.1  ความสำคัญของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล
การวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมีความสำคัญ  ดังนี้
2.1.1  เป็นเครื่องมือควบคุมการใช้จ่ายเงินส่วนบุคคล  เพราะความต้องการบริโภคสินค้าและบริการมีมากมายไม่จำกัด   หากปราศจากการควบคุมที่ดีก็จะมีภาระหนี้สินมากมายจนขาดอิสรภาพทางการเงินในที่สุด
2.1.2  เกิดการประหยัดค่าใช้จ่ายก่อให้เกิดการเงินออม  การวางแผนทางการเงินจะทำให้บุคคลทราบว่าตนมีรายการจ่ายที่เกิดขึ้น ว่าเป็นรายจ่ายที่จำเป็นหรือฟุ่มเฟือยได้ทำให้บุคคลสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายที่จำเป็นหรือไม่จำเป็นได้ ทำให้มีเงินออมเก็บไว้ใช้อนาคต
2.1.3  เป็นเครื่องมือป้องกันปัญหาหนี้สิน  การวางแผนการเงินส่วนบุคคลที่ดีจะทำให้บุคคลใช้จ่ายเงินอย่างรอบคอมมีการใช้จ่ายเงินตามฐานะรายได้ของตนไม่ต้องมีภาระหนี้สินที่เกิดจากการใช้จ่ายเกินตัว
2.1.4  เป็นเครื่องมือสร้างความมั่งคั่งและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ  ความมั่นคงและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง  เกิดจากการที่บุคคลมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย  เพื่อให้มีเงินออมมากพอที่จะเป็นหลักประกันของครอบครัวว่ามีความมั่นคงที่ยั่งยืนอันยาวนานตลอดไป  เช่น  การมีบ้านและที่ดิน  มีหุ้นในบริษัท  มีกิจการที่เป็นแหล่งรายได้ที่มั่นคง เป็นต้น
2.1.5  ช่วยทำให้สามารถประเมินฐานะทางการเงินของตนเองถูกต้องตามความเป็นจริง  การวางแผนการเงินส่วนบุคคลจะทำให้บุคคลทราบว่ามีรายจ่ายที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนเท่าใดทำให้บุคคลประเมินทางการเงินของตนเองได้ตรงตามความเป็นจริงทำให้ระมัดระวังไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว 
2.2  กลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการวางแผนทางการเงิน
                หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวสามารถนำมาประยุกต์ใช้หลักในการออมและการลงทุนได้เป็นอย่างดี  คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” กับการวางแผนทางการเงินเป็นแนวทางปฏิบัติให้การดำรงตนด้วยความพอประมาณ  ความมีเหตุผลและการมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดี  ซึ่งถ้าหากปฏิบัติได้ตามหลักอย่างครบถ้วนแล้ว เชื่อได้ว่าทุกคนจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข  ไม่ว่าจะใน 3-4 ปี  หรือ 20-30 ปี  ข้างหน้าก็ตาม
    2.2.1  ความพอประมาณ  หมายถึงการเลือกดำรงชีวิตให้เหมาะสมกับรายได้รายจ่าย  ลักษณะความเป็นอยู่ และนิสัยของเรา โดยไม่โลภหรืออยากได้อยากมีมากจนเกินไปอาจทำได้โดยการแบ่งเงินที่มีอยู่ในวันนี้ให้เป็นส่วน ๆ อย่างเหมาะสม เช่น จะออมเท่าไร ใช้เท่าไรจัดสรรเงินแต่ละส่วนให้เหมาะสมและยังช่วยทำให้ทราบถึงงบประมาณที่นำไปใช้ในการออมการลงทุน
                  2.2.2   ความมีเหตุมีผล  หมายถึงการตัดสินใจออมเงิน การใช้จ่ายเงินและลงทุนอยู่บนพื้นฐานของการมีสติและใช้ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ ที่จะนำมาประกอบการตัดสินใจในแต่ละครั้ง ไม่ได้เชื่อหรือตัดสินใจทำเพียงเพราะได้ยินได้ฟังจากบุคคลรอบข้างเพื่อเลียนแบบกันเป็นการใช้ความคิดไตร่ตรองวิเคราะห์ตัดสินใจบนพื้นฐานของปัญญานั้น เป็นหลักการที่สอนอยู่ในพระพุทะศาสนาและสามารถนำไปปรับใช้ได้ในทุก ๆ ด้านของชีวิต
                   2.2.3  ระบบคุ้มกันในตัวที่ดี  หมายความว่าให้ดำรงชีวิตตั้งอยู่บนความไม่ประมาทและควรเริ่มออก เริ่มลงทุนเพื่ออนาคตตั้งแต่เนิ่น ๆ ไม่ใช่รอให้เวลาผ่านไปอย่างไร้ค่า หรือใกล้เกษียณแล้วค่อนมาคิดกัน นอกจากนี้การมีระบบคุ้มกันตัวที่ดียังหมายถึงการเตรียมตัวในทุก ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเงิน สุขภาพ สังคมและการดำเนินชีวิต เพราะสิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตทั้งในปัจจุบันและอนาคต
                2.3  การเริ่มต้นวางแผนทางการเงิน  แนวทางอย่างง่าย ๆ สำหรับการเริ่มต้นวางแผนทางการเงินที่ดีจะนำทางสู่ความมั่งคั่งตามความต้องการนั้นทำได้ ดังนี้
                2.3.1  ฝึกการมีวินัยทางการเงินให้แก่ตนเองก่อน คือ การรู้จักรายได้ รายจ่ายของตนว่ามีเงินใช้จ่ายอย่างพอเพียง กำหนดเป้าหมายทางการให้ชัดเจน โดยบุคคลจะต้องรู้จักประมาณตน
                2.3.2  การจดบันทึกรายรับรายจ่าย เป็นรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนก็ได้ควรจดทุกวันจะจำรายรับ รายจ่ายได้แม่นยำกว่า
                2.3.3  ให้สำรวจตนเอง  2 เรื่อง คือ สถานะทางการเงินของตนเป็นอย่างไรและสำรวจอุปนิสัยการใช้เงินของตนเองเป็นอย่างไร เช่น  สุรุ่ยสุร่าย ฟุ่มเฟือย ประหยัด มัธยัสถ์ เป็นต้น
                2.3.4  ให้จัดระเบียบทางการเงินของตนเกี่ยวกับ
                                1)  วิธีการควบคุมการใช้จ่ายเงินได้อย่างไร
                                2)  จะออมเงินเพื่อสำรองยามฉุกเฉินเท่าไร
                                3)  จะเก็บออมเงินเพื่อซื้อทรัพย์สินเท่าไร
                                4)  จะเก็บออมเงินยามเกษียณเท่าไร
                                5)  จะนำเงินออมไปลงทุนเท่าไร

3.  ลักษณะการวางแผนการเงินที่ดี
                3.1  การจัดทำแผนการเงินให้คำนึงถึงประโยชน์และความพอใจของคนในครอบครัวโดยส่วนรวม
                3.2  วิธีการและรูปแบบการทำแผนการเงิน  ควรทำได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ ไม่ยุ่งยากช้อนที่บุคคลสามารถกรอกรายการลงในแบบฟอร์มนั้น ๆ ได้ตลอดเวลา
                3.3  เป็นแผนที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ๆ ไม่ใช่แผนที่จัดทำขึ้นอย่างสวยงามแต่นำมาใช้ไม่ได้และยุ่งยากเป็นภาระในการดำเนินชีวิตประจำวัน
                3.4  สามารถปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์และยืดหยุ่นตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
                3.5  ควรมีการทดสอบและประเมินผลออกมาก่อนนำมาใช้ เพื่อพิจารณาว่ารายได้และรายจ่ายได้เกินขึ้นนั้นเป็นจริงตามแผนที่จัดทำไว้หรือแตกต่างไปจากที่กำหนดไว้ในแผนการเงินที่ทำไว้จำนวนเท่าไรด้วยสาเหตุใด และมีวิธีการแก้ไขให้เป็นไปตามแผนได้อย่างไร
4.  ประโยชน์ของการวางแผนทางการเงิน
                4.1  ช่วยให้บุคคลมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นเนื่องจากการวางแผนการเงินส่วนบุคคลให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้
                4.2  ช่วยให้บุคคลจัดการรายรับ รายจ่าย และเงินออมของตนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
                4.3  ช่วยให้บุคคลมีการควบคุมสถานะทางการเงินของตนอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้บุคคลมีภาระหนี้สินมากเกินไป
                4.4  ช่วยลดความวิตกกังวลทางการเงินของบุคคล เนื่องจากการวางแผนทางการเงินจะทำให้บุคคลคาดการณ์รายได้และค่าใช้จ่ายในอนาคตแล้วนำไปวางแผนทางการเงินให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินได้ตามต้องพร้อมจัดทำแผนการเงินรองรับไว้ด้วย
5.  ข้อเสนอแนะการวางแผนทางการเงิน
                ก่อนการวางแผนทางการเงินบุคคลควรรู้แนวคิดสำหรับการวางแผนทางการเงินคือ
                5.1  การวางแผนทางการเงินจะประสบความสำเร็จต้องมีการตั้งเป้าหมายอย่างเป็นระบบ เช่น  ต้องการซื้อกล้องถ่ายรูปดิจิตอล จำนวนเงิน 20,000 บาท ระยะเวลาออม 10 เดือนนั้นต้องออมเดือนละ 2,000 บาท เป็นต้น
                5.2  อย่าผัดวันประกันพรุ่ง ให้เริ่มต้นวางแผนทางการเงินกันตั้งแต่วันนี้ไม่ต้องรอให้หนี้สินล้นพ้นตัว หรือเกิดมรสุมชีวิตกับตนเองก่อนจึงวางแผนทางการเงิน
                5.3  ปรับเปลี่ยนความคิดที่ว่าคนรวย หรือคนมีรายได้ประจำเท่านั้นจะต้องวางแผนทางการเงิน ความจริงแล้วทุกคน ทุกเพศ ทุกวัยควรมีการวางแผนทางการเงิน
                5.4  วิธีการวางแผนทางการเงิน สามารถเริ่มต้นด้วยตนเองอย่างง่าย ๆ เช่น ให้เริ่มต้นจากการจดบันทึกในสมุด 1 เล่มก็ทำได้โดยไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาทางการเงินราคาแพง ๆ เว้นแต่มีเงินจำนวนมาก เช่น ความรำกรวยเพราะการประกอบอาชีพ การถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับรางวัล ได้รับค่าตอบแทนจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกได้เหรียญทองเป็นเงินจำนวนมากเช่นนี้ควรจ้างที่ปรึกษาทางการเงินมาบริหารเงินให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองมากที่สุดทั้งในปัจจุบันและในอนาคต
                5.5  รูปแบบการวางแผนทางการเงินเอกสิทธิ์ส่วนบุคคล รูปแบบการจัดทำแผนการเงินอาจแตกต่างกันได้ เนื่องจากเป้าหมาย รายได้ รายจ่ายของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
                5.6  ให้ทบทวนแผนการเงินของตนเองอย่างสม่ำเสมอให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะแผนการเงินที่ดีต้องสามารถยืดหยุ่นปรับปรุงได้
6.  หลักการวางแผนการเงินส่วนบุคคล
                ขั้นตอนการวางแผนทางการเงินการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลมี 5 ขั้นตอนคือ
                ขั้นที่ 1  การประเมินสถานะภาพการเงินของบุคคลในปัจจุบัน ได้แก่ การพิจารณารายได้ค่าใช้จ่าย ทรัพย์สินภาระหนี้สินและจำนวนเงินออมที่มีอยู่ในปัจจุบันเพื่อนำมาจัดทำงบการเงินส่วนบุคคล เช่น งบดุลส่วนบุคคล งบรายได้และค่าใช้จ่าย
                ขั้นที่ 2  การกำหนดเป้าหมายทางการเงิน การมีเป้าหมายทางการเงินจะทำให้บุคคลสามารถกำหนดแนวทางที่ต้องปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้  ในการกำหนดเป้าหมายทางการเงินจะต้องระบุให้ชัดเจนตามหลัก SMART และควรเหมาะสมกับสถานะการเงินของแต่ละบุคคล
                ขั้นที่ 3  การกำหนดทางเลือกและการประเมินทางเลือก การเลือกวิธีจัดการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเงินที่กำหนดไว้และพิจารณาเลือกทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด เช่น การออมเงิน  การใช้จ่ายเงิน การลงทุนเพื่อให้มีผลตอบแทนเพิ่มขึ้นที่ต้องหาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ หรือปรึกษาที่ปรึกษาทางการเงิน เช่น นายธนาคาร นักบัญชี ตัวแทนประกันภัย  เป็นต้น ตามความเหมาะสมเพื่อประกอบการพิจารณาหาทางเลือกที่ดีที่สุดให้กับตนเอง
                ขั้นที่ การปฏิบัติตามแผนการเงิน  กระบวนการสำคัญที่สุดในกระบวนการวางแผนการเงินส่วนบุคคลคือการปฏิบัติตามแผนการเงินที่กำหนดไว้หากไม่ปฏิบัติตามแผนการเงินที่วางแผนไว้ก็ตามก็ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ต้องการได้ ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและตั้งใจอย่างสูง
                ขั้นที่ การติดตามผลและปรับปรุงแผนการเงิน หลังจากปฏิบัติตามแผนการที่วางไว้แล้วลำดับต่อมาคือการติดตามผลว่าแผนการเงินนั้นมีความเหมาะสมหรือไม่  สามารถปฏิบัติจริงได้หรือไม่  หากไม่สามารถปฏิบัติตามแผนได้จะต้องทำการปรับแผนการเงินใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไป  เช่น  สถานทางการเงินของครอบครัว ภาวะเศรษฐกิจของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปจึงต้องทบทวนและปรับปรุงแผนการเงินอยู่สม่ำเสมอ
7.  ปัจจัยพื้นฐานของการวางแผนการเงินส่วนบุคคล
                7.1  ผู้มีส่วนร่วมในการวาแผน  ในครอบครัวใดครอบครัวหนึ่งผู้วางแผนการเงิน คือ หัวหน้าครอบครัวเป็นผู้กำหนดแผนกการเงินร่วมกับสมาชิกในครอบครัวจะก่อให้เกิดความผูกพันภายในครอบครัวและยอมรับความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการตัดสินใจร่วมกัน  ถ้ามีการตัดสินใจนอกเหนือจากแผนการที่วางไว้ก็มักจะมอบให้เป็นการตัดสินใจของผู้นำครอบครัวเพียงผู้เดียว  ถ้าเป็นคนโสดก็จะวางแผนทางการเงินด้วยตนเอง
                7.2  รายได้ส่วนบุคคล  ได้แก่  รายได้ส่วนบุคคลสุทธิบุคคลสุทธิซึ่งเป็นจำนวนเงินรายได้หลังหักภาษีที่สมาชิกภายในครอบครัวมอบให้แก่ครอบครัว ควรวางแผนการเงินให้สอดคล้องกับรายได้สุทธิที่มีอยู่
                7.3  วิเคราะห์บันทึกทางการเงิน  เป็นการวิเคราะห์รายการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการต่าง ๆ ๆด้มากน้อยเพียงใดและมีการใช้จ่ายเงินไปในทางใดบ้าง เช่น  ค่าใช้จ่ายประจำ ค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน  ค่าใช้จ่ายการศึกษาบุตร  เป็นต้น เพื่อช่วยให้การวางแผนทางการเงินในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
8. เป้าหมายชีวิต  (Life goal)
                เป้าหมายชีวิต (Life Goal) คือความต้องการที่ถูกกำหนดไว้ในอนาคตเพื่อเป็นหลักชัยในการดำรงชีวิตอย่างมีคุณภาพ  การกำหนดเป้าหมายชีวิตเปรียบเสมือนการมีเข็มทิศนำทางที่จะทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีทิศทางที่แน่นอนเพื่อให้การดำรงชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นมีความมั่นคงเป้าหมายของชีวิตมี  2 ลักษณะด้วยกันคือ
                8.1  เป้าหมายที่เป็นตัวเงินหรือเป้าหมายทางการเงิน  (Financial goal) เป็นเป้าหมายที่สามารถกำหนดเป็นตัวเงินได้เช่นต้องการเก็บออมเงินไว้ซื้อบ้านราคา  1,000,000 บาท  ต้องการเก็บออมเงินซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคลราคา  570,000 บาท หรือต้องการเก็บออมเงินไว้สำหรับใช้จ่ายในช่วงเกษียณอายุ  4,000,000 บาท  สิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลบรรลุเป้าหมายทางการเงินได้  คือการกำหนดจำนวนเงินที่แน่นอน
                8.2  เป้าหมายที่ไม่เป็นตัวเงิน  (Non – Financial goal )  เป็นเป้าหมายทางสังคมที่ต้องการให้สมาชิกในครอบครัวมีความสุข  มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ต้องการช่วยเหลือสังคมให้ได้รับความเป็นธรรมในสังคมเป็นต้น  การกำหนดเป้าหมายด้านนี้ไม่สามารถกำหนดเป็นจำนวนเงินที่แน่นอนได้
9.  หลักการกำหนดเป้าหมายชีวิต
                ลักษณะที่ดีของการกำหนดเป้าหมายทางการเงินหรือเป้าหมายชีวิต  ต้องเป็นไปตามหลัก  SMART  ได้แก่
                9.1  Specific  (S)  มีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจง  ได้แก่  การกำหนดความต้องการที่คุณค่าต่อตนเองไว้อย่างชัดเจน  เช่น  นายโต้งต้องการเงินเก็บออมไว้ลงทุนจำนวน  100,000 บาท  เพื่อใช้ในยามเกษียณ  เป็นต้น
                9.2  Measurable (M)  ระบุและวัดผลได้  ได้แก่  การกำหนดเป้าหมายสามารถระบุและวัดผลลัพธ์ได้แน่นอน  เช่น  นายโต้งมีเงินใช้ยามเกษียณแน่นอนถ้าเก็บออมเงิน
                9.3 Accountable (A)  ความมุ่งมั่นและลงมือปฏิบัติได้จริงทำได้สำเร็จ  ได้แก่ การตั้งใจจริงและลงมือปฏิบัติทันทีโดยรู้ว่าจะทำอย่างไรให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ บุคคลควรมีความรับผิดชอบและมีวินัยในตัวเองเพื่อทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้
                9.4  Realistic (R)  มีเหตุผลเป็นจริงได้  เป็นการกำหนดเป้าหมายทางการเงินต้องเหมาะสมกับสถานะของแต่ละบุคคลนั้นที่จะสามารถทำให้สำเร็จได้  ตัวอย่างเช่น  นายโต้งต้องการซื้อรถยนต์ราคาคันละ  700,000 บาท ภายใน 4 ปีในขณะที่เขามีรายได้เดือนละ  6,500 บาท เช่นนี้เป็นการกำหนดเป้าหมายที่ไม่มีเหตุผลเป็นจริงไม่ได้
                9.5  Time bound (T)  มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน  เป็นการกำหนดเป้าหมายทางการเงินที่มีกรอบระยะเวลาทีแน่นอนที่ต้องทำให้สำเร็จ  เพื่อประเมินความสำเร็จของเป้าหมายได้ เช่น  นายโต้งต้องการซื้อรถจักรยานยนต์มูลค่า  35,000 บาท  และผ่อนชำระค่ารถจักรยานยนต์เดือนละไม่เกิน  1,500 บาทภายในเวลา 3 ปี นั่นคือ  นายโต้งต้องวางแผนการออมเงินเพื่อเป็นเงินดาวน์จำนวนเท่าไรจึงจำไม่เดือดร้อนกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของตน
10.  ประเภทของเป้าหมายชีวิตหรือเป้าหมายทางการเงิน
                เป้าหมายชีวิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
                10.1  เป้าหมายระยะสั้น (Short-term goal)  เป็นการกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำให้สำเร็จได้ภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 ปีอาจเป็นเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตหรือไม่ก็ได้ เช่น  ต้องการเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลเนื่องจากเจ็บป่วย  ต้องการเก็บออมเงินเพื่อซื้อโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ภายใน  6 เดือนนี้  เป็นต้น
                10.2  เป้าหมายระยะยาว (Long-term goal)  เป็นการกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำสำเร็จได้เมื่อใช้ระยะเวลานานมากกว่า 1 ปี เช่น ต้องการเก็บออมเงินไว้ซื้อบ้านที่อยู่อาศัยต้องการเก็บออมเงินไว้เพื่อจ่ายยามเกษียณเป็นต้น
11.  การแบ่งช่วงอายุ/ช่วงชีวิต (Life cycle) กับการวางแผนทางการเงิน
                ช่วงอายุของบุคคลแต่ละช่วงจะมีผลต่อความสามารถในการหารายได้และการใช้จ่ายเงินแตกต่างกันตามภาระความรับผิดชอบของบุคคล  ดังนั้นช่วงชีวิตจึงนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญประการแรกที่ต้องพิจารราในการวางแผนทางการเงินช่วงอายุของบุคคล  แบ่งออกเป็น 3 ช่วงอายุดังนี้
                11.1  ช่วงเริ่มทำงานหรือช่วงสะสมทุนทรัพย์  ได้แก่  ช่วงอายุตั้งแต่เริ่มทำงานถึงอายุ 54 ปี  เป็นช่วงอายุที่มีรายได้น้อยสม่ำเสมอในระยะแรกและรายได้จะเพิ่มขึ้นตามความรับผิดชอบและอายุงานที่เพิ่มขึ้น  ส่วนรายจ่ายของบุคคลในช่วงอายุนี้มีรายจ่ายค่อนข้ามากเพราะเป็นช่วงที่สร้างฐานะขิงครอบครัว  มีภาระเลี้ยงครอบครัว  และซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อสร้างฐานะให้แก่ครอบครัว  เช่น รถยนต์ บ้าน เครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ เป็นต้น
                11.2 ช่วงก่อนปลดเกษียณ  ได้แก่  ผู้ที่มีอายุตั้งแต่  55 ถึง 64 เป็นช่วงที่มีความสามารถหารายได้สูงที่สุด  เนื่องจากบุคลมีฐานะมั่นคง  ส่วนรายจ่ายจะลดเพราะบุตรสำเร็จการศึกษา  ทำงานหาเลี้ยงตนเองได้และมีฐานะมั่นคง  และหนี้สินลดลงจึงทำให้มีที่เหลือไว้สำหรับลงทุนมากขึ้น  และควรเก็บออมเงินบางส่วนสำรองไว้ใช้สำหรับช่วงเกษียณอายุทำงานด้วย  จึงควรวางแผนการเงินเกี่ยวกับการลงทุนเพื่อเกษียณอายุนั้น  ควรวางแผนล่วงหน้าก่อนเกษียณอย่างน้อย  5 ปี  เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้  ดังนั้นผู้ที่จะปลดเกษียณต้องสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจก่อนปลดเกษียณว่าในปีเกษียณนั้น  มีทรัพย์สิน  หนี้สิน  และรายได้  รายจ่ายเท่าใด
                11.3  ช่วงหลังเกษียณอายุ  (ปลดเกษียณแล้ว)  ได้แก่  ผู้ที่มีอายุตั้งแต่  65 ปี ขึ้นไปความสามารถหารายได้ลดลงจึงต้องใช้ทรัพย์สินที่ได้สะสมและการลงทุนไว้  ผู้เกษียณจะมีแหล่งรายได้มาจากเงินบำเหน็จ  บำนาญ เงินสะสม เงินประกันสังคม รายได้จากการลงทุนด้านรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายในชีวิตประจำวัน  ค่าดูแลสุขภาพ  ค่ารักษาพยาบาลหรือการผักผ่อนท่องเที่ยวการวางแผนทางการเงินส่วนบุคคลในช่วงอายุนี้จะเกี่ยวกับการวางแผนลงทุนและการวางแผนจัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
12.  ปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล
                12.1  สาเหตุปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล
                                การบริหารการเงินส่วนบุคคล (personal Literacy)  เป็นทักษะชีวิตของบุคคลทุกคนที่ควรรู้จักวีการจัดการเงินที่จะทำให้บุคคลไม่เกิดปัญหาทางการเงินที่จะทำให้บุคคลคนนั้นขาดอิสรภาพทางการเงินขาดความมั่นคงทางการเงินที่เกิดจากสาเหตุดังต่อไปนี้
                12.1 1  การผัดผ่อนการออมเงิน  เพราะการไม่มีวินัยในการออมและขาดความตั้งในจริงในการที่จะออมและการยึดติดความคิดเดิม  ๆ ที่ว่าการออมจะต้องออมจากเงินเหลือจากการใช้จ่ายก่อน  จากแนวคิดนี้จึงทำให้คนคิดว่าตนเองมีรายได้เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเป็นวัน ๆ เท่านั้น ไม่มีเงินเหลือเก็บออมเพราะมีรายจ่ายมากจนไม่มีเงินเหลือเก็บ
                12.1.2  การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  สุรุ่ยสุร่ายเกินตัว  เป็นการใช้จ่ายเงินเพื่อความสะดวกสบาย  หรือใช้จ่ายซื้อสินค้าหรือบริการเพื่อความมีหน้ามีตาทัดเทียมคนอื่น  โดยไม่คำนึงถึงรายได้ที่มีอยู่จนก่อให้เกิดการใช้จ่ายเงินเกินตัวเพราะอยากให้สังคมยอมรับ  เพื่อความมีหน้ามีตาในสังคม  เป็นต้น
                12.1.3  ดำรงชีวิตด้วยความประมาท  เป็นการดำเนินชีวิตเรื่อย ๆ โดยไม่คิดว่าจะมีเหตุการณ์บางอย่างเกิดขึ้นโดยไม่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นเมื่อไรในอนาคต เช่น  กาว่างงาน  ธุรกิจล้มเหลว การประสบอุบัติเหตุ  การเจ็บป่วย  หรือการเสียชีวิตทำให้มีเงินไม่พอใช้จ่ายกับภาระที่เกิดขึ้นจึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อแก้ปัญหานั้น ๆ ทำให้มีหนี้สินเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่คาดคิดไว้ล่วงหน้าเพราะเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองแน่นอน  จึงเป็นการดำเนินชีวิตด้วยความประมาท
                12.4  ขาดการวางแผนทางการเงิน  บางคนคิดว่าตนเองไม่มีปัญหาทางการเงินเนื่องจากมีฐานะและอาชีพที่มั่นคงแล้ว  หรือคิดว่าการวางแผนทางการเงินเหมาะสำหรับคนที่ใกล้เกษียณแล้วเท่านั้น  หรือเพราะคิดว่าตนเองรายได้น้อยอยู่ไม่มีเงินออมเพราะภาระค่าใช้จ่ายสูงหรือเพราะตนยังไม่มีงานทำยังเรียนไม่จบ  เป็นต้น  จึงทำให้บุคคลนั้น ๆ ไม่คิดที่จะวางแผนทางการเงินและมีความคิดว่าการวางแผนทางการเงินเป็นเรื่องยุ่งยากไกลเกินตัว
                12.2  ลักษณะของปัญหาทางการเงินส่วนบุคคล
                                12.2.1  ขาดสภาพคล่องทางการเงิน  มีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะการมีภาระดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกเดือน
                                12.2.2  มีใบแจ้งหนี้เตือนมาล่วงหน้าสำหรับหนี้ที่ต้องจ่ายในเดือนนี้แต่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดได้
                                12.2.3  ได้รับหนังสือทวงถามหรือหนังสือเตือนจากเจ้าหนี้เนื่องจากการผิดนัดชำระหนี้หรือการชำระหนี้ช้ากว่ากำหนดในสัญญาเงินกู้
                                12.2.4  เมื่อมีค่าใช้จ่ายจำเป็นเกิดขึ้นหรือแม้กระทั่งค่าใช้จ่ายประจำมักใช้วีหยิบยืมเงินจากคนใกล้ชิดแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ
                                ปัญหาทางการเงินที่เกิดขึ้นจะทำให้บุคคลขาดอิสรภาพทางการเงินขาดความเชื่อถือในสังคมตลอดจนเกิดความเครียดและก่อให้เกิดปัญหาต่อตนเอง ครอบครัว และที่ทำงานที่สุด